Switzerland; Swiss Confederation (-)

สวิตเซอร์แลนด์ หรือสมาพันธรัฐสวิส (-)

สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศขนาดเล็ก ตั้งอยู่กลางทวีปยุโรปโดยไม่มีทางออกสู่ทะเล ภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยขุนเขา ทะเลสาบ และลาดเนินทำให้มีชื่อเสียงในด้านทิวทัศน์อันงดงาม จนสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นจำนวนมากประกอบกับความก้าวหน้าในด้านอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรแร่ธาตุน้อย เช่น การผลิตนาฬิกา สิ่งทอ ตลอดจนผลิตภัณฑ์นมต่าง ๆ ทำให้สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีรายได้ต่อหัวสูงที่สุดประเทศหนึ่ง

 สวีตเชอร์แลนต์มีเนื้อที่ ๔๑,๒๙๐ ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตทิศเหนือติดต่อกับประเทศเยอรมนีและฝรั่งเศสทิศตะวันออกติดต่อกับประเทศออสเตรียและอิตาลี ทิศใต้ติดต่อกับประเทศอิตาลี และทิศตะวันตกติดต่อกับประเทศฝรั่งเศส เมืองหลวงคือ กรุงเบิร์น (Burn) ใช้ภาษาราชการ ๔ ภาษา คือ เยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี และโรแมนช์ (Romansch) มีประชากรประมาณ ๘,๐๖๑,๕๐๐ คน (ค.ศ. ๒๐๑๔) ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกและนิกายโปรเตสแตนต์

 ดินแดนที่เป็นประเทศสวิตเซอร์แลนด์ไนปัจจุบันมีผู้คนอยู่อาศัยมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ หลักฐานทางโบราณคดีที่พบในหลายส่วนของประเทศแสดงให้เห็นร่องรอยการตั้งถิ่นฐานและวัฒนธรรมยุคต่าง ๆ ทั้งยุคหินเก่า ยุคหินใหม่ และยุคสัมฤทธิ์ เมื่อถึงยุคเหล็กประมาณ ๘๕๐ ปี ก่อนคริสต์ศักราช ชาวเผ่าที่ครอบครองดินแดนนื้คือพวกเคลต์ (Celt) ซึ่งมีเผ่าเฮลเวตี (Helvetii) เป็นเผ่าใหญ่และมีอำนาจมากที่สุด ตั้งถิ่นฐานอยู่ในภาคตะวันตกชองประเทศ และพวกรีเชียน (Rhaetian) ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันออก ประมาณศตวรรษที่ ๑ ก่อนคริสต์ศักราช จักรวรรดิโรมันขยายอำนาจและผนวกดินแดนนี้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิ รวมทั้งได้พัฒนาเมืองต่าง ๆ ขึ้น ปรับปรุงเส้นทางส่งนํ้า สร้างสนามกีฬาโรงมหรสพ ตลอดจนที่พักอาศัยแบบโรมันเป็นจำนวนมาก (ซากโบราณสถานเหล่านี้หลายแห่งยังคงเหลือให้เห็นในปัจจุบัน) นอกจากนี้ ชาวโรมันยังขยายเส้นทางการคมนาคมหลายสายเพื่อใช้เป็นเส้นทางติดต่อระหว่างกรุงโรมกับอาณานิคมที่อยู่ชายแดนทางเหนือของจักรวรรดิส่งผลให้สวิตเซอร์แลนด์กลายเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญในสมัยนั้น

 ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ ๑ อนารยชนเยอรมันเริ่มเข้ามารุกรานและยึดครองดินแดนสวิตเซอร์แลนด์ และในคริสต์ศตวรรษที่ ๕ ดินแดนแถบนี้ก็ตกอยู่ใต้การปกครองของชนเผ่าเยอรมัน ๒ เผ่า คือ พวกเบอร์กันเดียน (Burgundian) กับพวกอะลามานนี (Alamanni) ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่กว่าและสามารถรุกรานจนได้ครอบครองดินแดนส่วนใหญ่รวมทั้งขับไล่ชาวเคลต์บางกลุ่มให้ถอยลึกเข้าไปในหุบเขาเกราบึนเดิน (Graubunden) [ปัจจุบัน ชาวสวิสเชื้อสายเคลต์ที่อยู่ในบริเวณนี้ยังคงใช้ภาษาโรแมนช์ซึ่งเป็นภาษาราชการภาษาหนึ่งของสวิตเซอร์แลนด์]

 ต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๖ พวกแฟรงก์ (Frank) เริ่มเข้ามารุกรานและต่อมาดินแดนแถบนี้ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของ


จักรวรรดิแฟรงก์หรือจักรวรรดิคาโรลินเจียน (Carolingian Empire) ใน ค.ศ. ๘๔๓ ดินแดนสวิตเซอร์แลนด์ถูกแบ่งออกเป็นส่วน ๆ ตามข้อตกลงในสนธิสัญญาแวร์เดิง (Treaty of Verdun) ซึ่งแบ่งจักรวรรดิแฟรงก์ออกเป็น ๓ ส่วนเพื่อมอบให้แก่บรรดาพระราชนัดดา ๓ พระองค์ของจักรพรรดิชาร์เลอมาญ (Charlemagne ค.ศ. ๘๐๐-๘๑๔) และในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๑ ได้กลับมารวมตัวกันอีกครั้งโดยอยู่ในจักรวรรดิโรมันอันศักดิสิทธิ์ (Holy Roman Empire)* ที่มีกษัตริย์เยอรมันเป็นประมุข อย่างไรก็ดี การที่อำนาจปกครองของจักรวรรดิเริ่มเสื่อมลงเรื่อย ๆ ทำให้ราชวงศ์ต่าง ๆ เช่น ซาริงเงิน (Zähringen) ซาวอย (Savoy)* และฮับส์บูร์ก (Habsburg)* ต่างพยายามขยายอาณาเขตและอิทธิพลเหนือดินแดนต่าง ๆ ในยุโรป ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓ สวิตเซอร์แลนด์ส่วนใหญ่อยู่ใต้อิทธิพลของราชวงศ์ชาริงเงินและตั้งแต่ ค.ศ. ๑๒๗๓ เป็นต้นมา ราชวงศ์ฮับส์บูร์กก็เริ่มเข้ามามีอำนาจเหนือดินแดนแถบนี้

 การขยายอำนาจของราชวงศ์ฮับส์บูร์กทำให้รัฐ (canton) ต่าง ๆ ที่อยู่ตอนกลางของสวิตเซอร์แลนด์พยายามผนึกกำลังกันต่อน วันที่ ๑ สิงหาคม ค.ศ. ๑๒๙๑ รัฐอูรี (Uri) รัฐชวีซ (Schwyz) และรัฐอุนเทอร์วัลเดิน (Unterwalden) ได้ทำสัญญาร่วมมือกันต่อต้านการรุกรานของต่างชาติ ซึ่งเรียกว่า สันนิบาตนิรันดร (Everlasting League) ที่เมืองรึทลี (Rütli) ซึ่งอยู่เหนือทะเลสาบลูเซิร์นขึ้นไป นับเป็นจุดเริ่มต้นของสมาพันธรัฐสวิส (ชาวสวิสถือว่าวันที่ ๑ สิงหาคมเป็นวันชาติของตน และใน ค.ศ. ๑๙๙๑ ได้มีการเฉลิมฉลองการครบรอบ ๗๐๐ ปีแห่งการประกาศเอกราชอย่างยิ่งใหญ่)

 ใน ค.ศ. ๑๓๑๕ ดุ๊กเลโอโปลด์ (Leopold) แห่งราชวงศ์ฮับส์บูร์กได้ส่งกำลังทหารเข้ามาปราบปรามรัฐชวีซและอุนเทอร์วัลเดิน แต่ต้องเผชิญกับการต่อต้านจากกองกำลังของกลุ่มพันธมิตรสวิส ซึ่งมีกำลังน้อยกว่าและส่วนใหญ่เป็นทหารชาวนาที่ใช้หอกไม้เป็นอาวุธจนต้องพ่ายแพ้อย่างสิ้นเชิง ชัยชนะครั้งนี้ทำให้สมาพันธรัฐที่ตั้งขึ้นใหม่เป็นที่ยอมรับ และมีรัฐสวิสอื่น ๆ เข้ามาร่วมมากขึ้นเป็นลำดับ ได้แก่ ลูเซิร์น (Lucern) ใน ค.ศ. ๑๓๓๒ ซูริก (Zurich) ใน ค.ศ. ๑๓๕๑ กลารุส (Glarus) และซุก (Zug) ใน ค.ศ. ๑๓๕๒ และเบิร์น (Bern) ใน ค.ศ. ๑๓๕๓ เป็นผลให้อาณาเขตของสมาพันธรัฐขยายกว้างขวางขึ้น รวมทั้งมีกำลังคน งบประมาณตลอดจนศักยภาพในด้านการเมืองและยุทธวิธีเพิ่มขึ้นมากราชวงศ์ฮับส์บูร์กพยายามส่งกองทัพเข้ามาปราบปรามอีกหลายครั้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ หลังจากการพ่ายแพ้ที่เซมปัค (Zempach) ใน ค.ศ. ๑๓๘๖ และที่นาเฟลส์ (Näfels) ใน ค.ศ. ๑๓๘๘ แล้ว การคุกคามของราชวงศ์ฮับส์บูร์กก็ลดน้อยลงจนเกือบไม่มีเลย

 อย่างไรก็ตาม ตลอดคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕ สมาพันธรัฐสวิส ซึ่งประกอบด้วยทั้ง ๘ รัฐดังกล่าวยังต้องเผชิญปัญหาความขัดแย้งทั้งภายนอกและภายในประเทศ ปัญหาภายนอกเกิดจากการที่อาณาเขตของสมาพันธรัฐลูกล้อมรอบด้วยดินแดนที่อยู่ในการปกครองของราชวงศ์ที่มีทั้งอำนาจและอิทธิพล ได้แก่ ราชวงศ์ฮับส์บูร์ก ราชวงศ์มิลาน ราชวงศ์ชาวอย และราชวงศ์เบอร์กันดี ทำให้มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกรุกรานและยึดครอง นโยบายเดิมของสมาพันธรัฐที่มุ่งรวมกันเพื่อต่อต้านการรุกรานจากภายนอกจึงต้องเปลี่ยนเป็นการเข้าโจมตีก่อนเพื่อรักษาเขตแดนของตนไว้และปลดเปลื้อง สิทธิตามระบอบการปกครองแบบฟิวดัลของราชวงศ์ฮับส์บูร์กเหนือดินแดนของสมาพันธรัฐ สมาพันธรัฐสวิสได้รับชัยชนะในการรบหลายครั้ง เช่น ใน ค.ศ. ๑๔๑๕ สามารถยึดได้รัฐอาร์เกา (Aargau) ซึ่งเป็นรัฐชายแดนด้านใต้ของออสเตรียและคั่นอยู่ระหว่างรัฐซูริกกับลูเซิร์นและเบิร์น ค.ศ. ๑๔๗๖ และ ๑๔๗๗ รบชนะดุ๊กชาร์ลพระเศียรล้าน (Charles the Bald) แห่งเบอร์กันดี และใน ค.ศ. ๑๔๙๙ ก็มีชัยเหนือกองทัพของจักรพรรดิมักซิมิเลียนที่ ๑ (Maximilian I) แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ จนพระองค์ต้องทรงยอมทำสนธิสัญญาบาเซิล (Treaty of Basel) ซึ่งเป็นการยอมรับความเป็นอิสระของสมาพันธรัฐสวิส แม้จะมิใช่อย่างเป็นทางการ

 ส่วนปัญหาภายในของสมาพันธรัฐสวิสเนื่องมาจากลักษณะการร่วมมือกันของรัฐต่าง ๆ เป็นการรวมกันอย่างหลวม ๆ โดยมีจุดมุ่งหมายทางการทหารเป็นสำคัญ ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐขึ้นหลายครั้ง ครั้งสำคัญ คือสงครามระหว่างซูริกกับรัฐข้างเคียงในทศวรรษ ๑๔๓๐ รัฐซูริกซึ่งได้รับการสนับสนุนจากออสเตรียและฝรั่งเศสพยายามขยายอาณาเขตของตนออกไปทางทิศตะวันออกและทิศใต้ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จนในที่สุดก็ต้องยอมเลิกนโยบายขยายดินแดน และกลับเข้าร่วมในสมาพันธรัฐอีกครั้งใน ค.ศ. ๑๔๕๐ ในขณะเดียวกันสมาพันธรัฐสวิสก็มีอาณาเขตกว้างขวางขึ้น เนื่องจากการเข้าร่วมของรัฐสวิสอีก ๕ รัฐ คือ ฟรีบูร์ก (Fribourg) และโซโลทูร์น (Solothurn)


ใน ค.ศ. ๑๔๘๑ บาเซิล (Basel) และชาฟฟ์เฮาเซิน (Schaffhausen) ใน ค.ศ. ๑๕๐๑ และอัพเพินเซลล์ (Appenzell) ใน ค.ศ. ๑๕๐๓ เป็นผลให้สมาพันธรัฐสวิสประกอบด้วยรัฐอิสระ ๑๓ รัฐ

 ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ สมาพันธรัฐสวิสถูกดึงเข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งระหว่างฝรั่งเศส ออสเตรีย และอิตาลี ด้วยเรื่องการครอบครองหุบเขาโป ซึ่งอยู่ประชิดพรมแดนด้านใต้ของสมาพันธรัฐ ในช่วงแรก พวกสวิสสนับสนุนฝรั่งเศสในการเข้ารุกรานอิตาลี แต่ต่อมาได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับอิตาลีต่อสู้กับฝรั่งเศส และสามารถขับไล่ฝรั่งเศสออกไปจากหุบเขาโปได้สำเร็จ อย่างไรก็ดี ฝรั่งเศสสามารถรวมกำลังได้ใหม่ในเวลาไม่นานหลังจากนั้นและใน ค.ศ. ๑๕๑๕ ก็สามารถเอาชนะกองทหารสวิสได้อย่างเด็ดขาดในการรบที่มารีญาโน (Marignano) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของมิลาน [ปัจจุบันคือ เมืองเมเลญาโน (Melegnano)] โดยฝ่ายสวิสเสียกำลังทหารไปกว่า ๘๐,๐๐๐ คนส่งผลให้สงครามครั้งนี้สิ้นสุดลง แต่ในการทำสัญญาสงบศึกสมาพันธรัฐสวิสซึ่งเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ไม่ได้ประสบความสูญเสียมากนัก เพราะยังคงมีสิทธิครอบครองดินแดนที่ในปัจจุบันเป็นเขตทีชีโน (Ticino) รวมทั้งดินแดนทางภาคใต้ที่เคยครอบครองอยู่เดิมเกือบทั้งหมด ยิ่งกว่านั้น สงครามครั้งนี้ยังมีผลดีต่อสมาพันธรัฐสวิสหลายประการ เพราะทำให้เกิดสันติภาพระหว่างสมาพันธรัฐสวิสกับฝรั่งเศสเป็นเวลายาวนานกว่า ๒๕๐ ปีจนถึงสมัยการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ (French Revolution of 1789)* สนธิสัญญาสันติภาพยังมีข้อกำหนดให้ทั้ง ๒ ประเทศเป็นเขตการด้าเสรีทำให้ชาวสวิสมีตลาดการค้าที่กว้างขวางขึ้นมาก อุตสาหกรรมภายในประเทศเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว ฝรั่งเศสเคยพยายามที่จะตั้งกำแพงภาษีเพื่อปกป้องผลผลิตภายในประเทศของตนหลายครั้ง แต่พ่อค้าสวิสก็ยกข้อกำหนดในสนธิสัญญาดังกล่าวมาต่อสู้จนฝรั่งเศสต้องยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าสวิสไปทุกครั้ง ทำให้สมาพันธรัฐสวิสได้เปรียบประเทศคู่แข่งสำคัญคือเยอรมนีและอิตาลีอย่างมาก นอกจากนี้ การที่กองทหารสวิสเป็นฝ่ายปราชัยอย่างยับเยินในการรบที่มารีญาโนทำให้ชาวสวิสตระหนักได้ว่าการที่จะดำรงความเป็นเอกราชไว้ได้นั้น สมาพันธรัฐสวิสจะต้องไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งของประเทศเพื่อนบ้านคือ ออสเตรีย ฝรั่งเศส และอิตาลี อันนับเป็นก้าวแรกของนโยบายวางตนเป็นกลางที่ดำเนินต่อมาจนถึงปัจจุบัน

 ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ในยุโรปได้เกิดขบวนการปฏิรูปคริสต์ศาสนาจนมีการก่อตั้งนิกายโปรเตสแตนต์ขึ้นในสมาพันธรัฐสวิส ซูริกเป็นศูนย์กลางของนิกายใหม่ โดยมีอุลริช ซวิงลี (Ulrich Zwingli) อดีตบาทหลวงในนิกายโรมันคาทอลิกเป็นผู้นำ คำสอนของเขาเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในรัฐที่ชุมชนส่วนใหญ่เป็นชุมชนเมือง ได้แก่ รัฐชาฟฟ์เฮาเซิน เบิร์น บาเซิล อัพเพินเซลล์ และกลารุสส่วนรัฐที่ชุมชนส่วนใหญ่เป็นชุมชนชนบท ซึ่งได้แก่ รัฐลูเซิร์นอูรี ชวิซ อุนเทอร์วัลเดิน ซุก ฟรีบูร์ก และโซโลทูร์นนั้นประชาชนยังคงยึดมั่นในคำสอนของคริสต์ศาสนาแบบดั้งเดิมซึ่งอยู่ใต้อิทธิพลของสันตะปาปาที่กรุงโรม รัฐเหล่านี้ได้ผนึกกำลังกันต่อต้านการแพร่ขยายของนิกายโปรเตสแตนต์และใน ค.ศ. ๑๕๓๑ ก็ได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดในการรบที่หมู่บ้านคัพเพิล (Kappel) ในรัฐซูริก ซวิงลีเสียชีวิตในที่รบการพยายามเผยแผ่นิกายโปรเตสแตนต์ให้เป็นที่ยอมรับในรัฐอื่น ๆ จึงยุติลง รัฐสวิสทั้งหลายมีเสรีภาพที่จะเลือกนิกายศาสนาของตน

 ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๕๓๓ เป็นต้นมาเป็นเวลากว่า ๒๐๐ ปี นับเป็นช่วงเวลาแห่งความสงบสันติและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ แม้ว่าความขัดแย้งและสงครามกลางเมืองย่อย ๆ ระหว่างรัฐที่นับถือคริสต์ศาสนานิกายต่างกันจะยังคงเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว และมีทหารรับจ้างชาวสวิสจำนวนมากไปร่วมรบในกองทัพของประเทศต่าง ๆ ในสงครามที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ แต่สมาพันธรัฐสวิสสามารถหลีกเลี่ยงการเข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรงกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในยุโรป โดยเฉพาะในสงคราม ๓๐ ปี (Thirty Years’ War) เมื่อสิ้นสุดสงคราม ใน ค.ศ. ๑๖๔๘ ในสนธิสัญญาเวสต์ฟาเลีย (Treaty of Westphalia) มหาอำนาจในยุโรปได้ยอมรับอย่างเป็นทางการว่าสมาพันธรัฐสวิสเป็นเอกราชอย่างสมบูรณ์จากจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ในช่วงเวลาเดียวกันมีรัฐและเมืองใหญ่เข้ามาผูกพันกับสมาพันธรัฐสวิสโดยผ่านการทำสัญญาเป็นพันธมิตรกับรัฐใดรัฐหนึ่งหรือหลายรัฐของสมาพันธรัฐ ที่สำคัญได้แก่ เกราบึนเดิน (Graubünden) เซนต์กาลเลิน (St. Gallen) ราชรัฐเนอชาแตล (Principality of Neuchâtel) และเสรีรัฐเจนีวา (Free Republic of Geneva)

 การดำรงความเป็นกลางในช่วงสงคราม ๓๐ ปี ทำให้มีผู้ลี้ภัยอพยพเข้ามาในสมาพันธรัฐสวิสเป็นจำนวนมากคนเหล่านี้นำทั้งเงินทุน แรงงาน และเทคโนโลยีเข้ามาและส่งเสริมให้อุตสาหกรรมของรัฐสวิสที่เริ่มพัฒนามาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๔ เจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งมีทั้งผ้าขนสัตว์ ผ้าฝ้าย ผ้าลินินและผ้าไหม แหล่งอุตสาหกรรมสิ่งทอของสมาพันธรัฐสวิสส่วนใหญ่อยู่ในเขตรัฐชนบททางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ซึ่งเป็นบริเวณที่สามารถนำพลังงานกระแสน้ำมาใช้ในอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมที่ขึ้นชื่ออีกอย่างหนึ่งของสวิตเซอร์แลนด์คือการผลิตนาฬิกาก็พัฒนาขึ้นในช่วงนี้เช่นกัน นับแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ ผู้ลี้ภัยชาวฝรั่งเศสและอิตาลีได้นำธุรกิจการผลิตนาฬิกาเข้ามาที่เมืองเจนีวาและเมื่อถึงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ ในเจนีวามีนายช่าง (master) นาฬิกากว่า ๑,๐๐๐ คน และเด็กฝึกงานอีกหลายพันคนในด้านการค้า พ่อค้าชาวสวิสนอกจากจะขายสินค้าที่ผลิตขึ้นในสมาพันธรัฐให้แก่ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปแล้ว ยังเป็นคนกลางในการซื้อและขายผลิตผลของประเทศที่เป็นคู่สงครามอีกด้วย ซึ่งนำความมั่งคั่งมาสู่ประเทศเป็นอย่างมาก

 อย่างไรก็ดี แม้ว่าสมาพันธรัฐสวิสจะได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากมหาอำนาจและมีความเจริญมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ แต่โครงสร้างทางการเมืองภายในกลับไม่เข้มแข็งสภาของสมาพันธรัฐประกอบด้วยผู้แทนจากรัฐต่าง ๆ รัฐละ ๒ คน ทั้งมีข้อกำหนดว่าการลงมติทุกครั้งจะต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกอย่างเป็นเอกฉันท์และยังต้องได้รับการให้สัตยาบันจากรัฐทุกรัฐอีกด้วยจึงจะใช้บังคับได้ ระบบเช่นนี้ทำให้การตัดสินของสภาแต่ละครั้งไม่สามารถบรรลุผล ในที่สุดก็ไม่มีการประชุมสภาอีกเลยในช่วง ค.ศ. ๑๖๖๓-๑๗๗๖ ส่วนสภาของรัฐต่าง ๆ ก็พัฒนาขึ้นในรูปแบบที่แตกต่างกัน เช่น บางรัฐที่ชุมชนเป็นชุมชนชนบท มีสภาที่ประกอบด้วยเสรีชนชายทุกคนในรัฐ และประชุมกันปีละครั้งเพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ ของรัฐ ในขณะที่บางรัฐมีสภานิติบัญญัติที่ประกอบด้วยผู้แทนจากกลุ่มขุนนาง ชนชั้นผู้ดี หรือ ตระกูลพ่อค้าที่มั่งคั่ง นอกจากนี้ แต่ละรัฐยังมีกองทัพของตนเอง ความขัดแย้งและความเป็นปฏิปักษ์ทางศาสนาก็ยังคงมีอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งความหวาดระแวงที่รัฐชนบทมีต่อรัฐแบบเมือง และความไม่พอใจที่รัฐเล็ก ๆ มีต่อรัฐใหญ่ ๆ ทั้งหมดนี้ทำให้สมาพันธรัฐสวิสไม่มีความสามารถพอที่จะต่อต้านการรุกรานทางทหารของกองทัพฝรั่งเศสหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙

 เมื่อนายพลนโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte)* สามารถยึดครองภาคเหนือของอิตาลีได้แล้ว ก็ยกกองทัพเข้าบุกสมาพันธรัฐสวิสซึ่งตั้งอยู่บนเส้นทางระหว่างเมืองมิลานกับกรุงปารีส และเป็นจุดที่ควบคุมช่องเขาเซนต์เบอร์นาร์ด (St. Bernard) ในเทือกเขาแอลป์ นโปเลียนยึดกรุงเบิร์นได้ในวันที่ ๕ มีนาคม ค.ศ. ๑๗๙๘ และตั้งสาธารณรัฐเฮลเวติก (Helvetic Republic) ขึ้นนับเป็นการสิ้นสุดสมาพันธรัฐสวิสเดิมซึ่งประกอบด้วย ๑๓ รัฐ รัฐบาลของสาธารณรัฐเฮลเวติกซึ่งอยู่ใต้อิทธิพลของฝรั่งเศสดำเนินการปกครองจากส่วนกลางโดยรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นในกรุงปารีส รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยุบเลิกอำนาจปกครองตนเองของรัฐต่าง ๆ โดยสิ้นเชิง แบ่งการปกครองออกเป็นจังหวัด (prefect) ที่ขึ้นตรงต่อส่วนกลาง นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญยังยกเลิกระบบสังคมแบบฟิวดัลที่มีอยู่ในบางรัฐและกำหนดให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันทางกฎหมาย ซึ่งเท่ากับเป็นการล้มล้างระบอบการปกครองแบบคณาธิปไตยโดยชนชั้นนำซึ่งดำเนินอยู่ในรัฐแบบเมืองของสมาพันธรัฐเดิมลง อย่างไรก็ดี ปัญหาความแตกต่างหลากหลายในด้านภาษา วัฒนธรรม และศาสนาของรัฐต่าง ๆ รวมทั้งความไม่พอใจของประชาชนในรัฐชนบทที่ถูกลิดรอนอำนาจปกครองของท้องถิ่น ตลอดจนความไม่พอใจที่ต้อง อยู่ภายใต้การปกครองของต่างชาติทำให้รัฐบาลสาธารณรัฐต้องเผชิญปัญหาอย่างหนัก

 นโปเลียนพยายามแก้ปัญหาโดยจัดการประชุมผู้แทนชาวสวิสขึ้นที่กรุงปารีสใน ค.ศ. ๑๘๐๒ เพื่อร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญการปกครองฉบับใหม่ขึ้น และได้ประกาศใช้รัฐบัญญัติการประนีประนอม (Act of Mediation) ในปีต่อมา รัฐบัญญัติฉบับนี้ปรับเปลี่ยนการปกครองแบบรวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลางมาเป็นแบบสมาพันธรัฐอีกครั้งหนึ่งโดยฟื้นสถานภาพรัฐเดิมทั้ง ๑๓ รัฐรวมทั้งตั้งรัฐใหม่อีก ๖ รัฐ คือ เซนด์กอลล์ (St. Gall) เกราบึนเดิน อาร์เกา ทูร์เกา (Thurgau) ทีชีโน และโว (Vaud) ทั้ง ๑๙ รัฐนี้รวมกันขึ้นเปืนสมาพันธรัฐเฮลเวติก (Helvetic Confederation) สภาของสมาพันธรัฐยังคงมีอำนาจในการตัดสินใจว่าจะนำประเทศเข้าสู่สงครามหรือไม่ การออกเงินตรา การทหาร และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ส่วนอำนาจอื่น ๆ นอกจากนี้ เป็นของรัฐบาลแต่ละรัฐ รัฐบัญญัติการประนีประนอมยังคงยืนยันการเลิกล้มสิทธิพิเศษของชนชั้นสูง และกำหนดให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันทางกฎหมาย คํ้าประกันเสรีภาพในการเดินทางข้ามรัฐ การเลือกประกอบอาชีพอย่างเสรี อีกทั้งยังระบุให้ฝรั่งเศสมีสิทธิเรียกระดมทหารสวิสเข้าร่วมรบในสงครามของฝรั่งเศส

 เมื่อจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๕) สิ้นอำนาจ การประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (Congress of Vienna)* ซึ่งมีขึ้นเพื่อจัดระเบียบและแบ่งเขตแดนของประเทศต่าง ๆ ในยุโรปได้ให้การคํ้าประกันสถานภาพความเป็นกลางตลอดกาลของสวิตเซอร์แลนด์ แต่มหาอำนาจกดดันให้ชาวสวิสร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่คือ ธรรมนูญ ค.ศ. ๑๘๑๕ (Pact of 1815) ซึ่งมีรัฐใหม่เข้าร่วมในสมาพันธรัฐอีก ๓ รัฐ คือ วาเล (Valais) เนอชาแตล และเจนีวาธรรมนูญฉบับนี้ลดบทบาทของรัฐบาลกลางลงอย่างมากคงเหลือเพียงเรื่องการทหาร การตัดสินใจเข้าสู่สงคราม และการทำสนธิสัญญากับต่างประเทศ ถึงกระนั้น รัฐแต่ละรัฐก็ยังมีสิทธิที่จะทำสนธิสัญญาหากสนธิสัญญานั้นเกี่ยวข้องโดยตรงกับผลประโยชน์ของรัฐนั้น ๆ นอกจากนี้ เสรีภาพในการเดินทางข้ามรัฐ การนับถือศาสนา และการเลือกประกอบอาชีพ รวมทั้งความเท่าเทืยมกันของประชาชนในทางกฎหมายก็ถูกยกเลิก รัฐต่าง ๆ หันมาใช้รูปแบบการปกครองแบบเดิม เป็นผลให้ชนชั้นสูงหรือผู้มั่งคั่งกลับมามีอภิสิทธิ์ดังแต่ก่อน

 หลัง ค.ศ. ๑๘๑๕ เศรษฐกิจของสวิตเซอร์แลนด์ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทั้งในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว แต่ในด้านการเมืองกลับมีปัญหา เนื่องจากแต่ละรัฐนอกจากจะมีอำนาจปกครองตนเองแล้ว ยังมีกฎหมายและกองทัพของตนเองและมีระบบการไปรษณีย์แยกจากกัน ยิ่งกว่านั้น รัฐต่าง ๆ ยังใช้ระบบเงินตราและระบบชั่งตวงวัดที่แตกต่างกันอีกด้วย เป็นผลให้พลเมืองของแต่ละรัฐมักจะมองว่าพลเมืองของรัฐอื่นเป็นคนต่างชาติมากกว่าจะเป็นคนสวิสด้วยกัน นอกจากนี้ ปัญหาเรื่องความแตกต่างทางด้านศาสนาที่ฝังรากลึกมาเป็นเวลานานก็เริ่มปรากฏให้เห็นอีกครั้ง

 ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ แนวความคิดเรื่องชาตินิยมและเสรีนิยมแพร่ไปทั่วยุโรป ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๓๐-๑๘๓๓ หลายรัฐให้สิทธิในการเลือกตั้งแก่ประชากรชายทุกคนให้เสรีภาพในการพิมพ์ตลอดจนสร้างความเท่าเทียมกันทางกฎหมายมากขึ้น ใน ค.ศ. ๑๘๓๔ ผู้แทนจากรัฐที่มีแนวโน้มไปในทางเสรีนิยมได้ลงมติในสภาของสมาพันธรัฐยอมรับแผนการที่ให้อำนาจแก่รัฐบาลกลางในการเก็บภาษีจากทรัพย์สินของโบสถ์ การก่อตั้งระบบการศึกษาแบบสมัยใหม่ที่ไม่เกี่ยวกับศาสนา รวมทั้งการให้เสรีภาพในการเลือกนับถือศาสนาแก่ประชาชนในรัฐ เป็นผลให้รัฐที่นับถือนิกายโรมัน


คาทอลิก ๗ รัฐ คือ ลูเซิร์น อูรี ชวีซ อุนเทอร์วัลเดิน ซุก ฟรีบูร์ก และวาเล ร่วมกันต่อต้านโดยรวมตัวกันเป็นกลุ่มพันธมิตรเรียกว่าซอนเดอร์บุนด์ (Sonderbund) ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๔๗ สภาของสมาพันธรัฐได้ลงมติว่าการรวมกลุ่มพันธมิตรดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญของสมาพันธรัฐและจะต้องเลิกล้มไป เมื่อได้รับคำปฏิเสธ รัฐอื่น ๆ จึงร่วมมือกันส่งกองทัพเข้าปราบปรามในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกันสงครามกลางเมืองครั้งนี้กินเวลาเพียง ๒๕ วันก็ยุติลงโดยสมาพันธรัฐเป็นฝ่ายมีชัย ในปีต่อมาก็ได้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยใช้รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาเป็นต้นแบบและประกาศใช้ในปีเดียวกัน ค.ศ. ๑๘๔๘ จึงนับเป็นจุดหักเหที่สำคัญของสวิตเซอร์แลนด์ เนื่องจากรูปแบบการบริหารปกครองประเทศได้เปลี่ยนจากการมารวมตัวกันด้วยวัตถุประสงค์ในด้านการป้องกันประเทศและรักษาความสงบภายในของรัฐที่มีอำนาจอธิปไตยของตนเองมาเป็นสมาพันธรัฐแบบรวมศูนย์ (federal centralized state) ตามรัฐธรรมนูญนี้ (มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญบางประการ โดยเฉพาะการเพิ่มอำนาจให้รัฐบาลสมาพันธรัฐและการจัดสวัสดิการสังคมให้แก่ประชาชนใน ค.ศ. ๑๘๗๔) รัฐบาลสมาพันธรัฐมีอำนาจกำกับดูแลด้านนโยบายต่างประเทศ การทหาร การรักษาความมั่นคงทั้งภายในและภายนอกประเทศ การขนส่ง การคมนาคม การป่าไม้ การอนุรักษ์พลังงานนํ้า การศุลกากร การไปรษณีย์ การโทรเลข การโทรศัพท์ และการออกเงินตรา ตลอดจนการกำหนดมาตรการให้กระบวนการยุติธรรมของรัฐต่าง ๆ เป็นไปในทางเดียวกัน

 หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ค.ศ. ๑๘๔๘ สมาพันธรัฐได้กำหนดให้รัฐต่าง ๆ ใช้ระบบเงินตรา ระบบชั่งตวงวัด และระบบการไปรษณีย์เดียวกัน ซึ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและการค้าของประเทศเป็นอย่างมาก การพยายามสร้างความสมดุลระหว่างอำนาจของรัฐบาลสมาพันธรัฐกับรัฐบาลของแต่ละรัฐ และระหว่างแต่ละรัฐดังกล่าวทำให้ความขัดแย้งภายในที่มีมานานยุติลงได้ ความสงบภายในประเทศที่เกิดขึ้นตามมารวมทั้งนโยบายดำรงความเป็นกลางของสวิตเซอร์แลนด์ทำให้ประชาชนสามารถพัฒนาการเกษตรอุตสาหกรรม และการคมนาคมได้อย่างเต็มที่ ในด้านการ


คมนาคมนั้น ชาวสวิสได้สร้างเครือข่ายทางรถไฟขึ้นอย่างกว้างขวาง และเชื่อมต่อกับทางรถไฟของประเทศเพื่อนบ้าน (ในช่วงแรกการสร้างทางและการเดินรถไฟเป็นกิจการของบริษัทเอกชน ต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๙๘ ประชาชนจึงออกเสียงให้โอนกิจการรถไฟสายหลัก ๆ มาเป็นของรัฐ) ใน ค.ศ. ๑๘๗๒ สวิตเซอร์แลนด์ได้ทำความตกลงกับอิตาลีและเยอรมนีในการขุดอุโมงค์เซนต์กอทท์ฮาร์ด (St. Gotthard Tunnel) ซึ่งมีความยาว ๑๔.๙๖ กิโลเมตร จนสามารถเปิดใช้งานได้ ใน ค.ศ. ๑๘๘๒ นับเป็นอุโมงค์ทางรถไฟที่ยาวที่สุดในโลกในขณะนั้น และในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ก็ได้สร้างอุโมงค์ซิมพลอน (Simplon Tunnel) ซึ่งมีความยาว ๑๙.๓ กิโลเมตร และอุโมงค์เลิทช์แบร์ก (Lötschberg Tunnel) ยาว ๑๔.๔๘ กิโลเมตร ทำให้การคมนาคมทางบกในยุโรปเป็นไปโดยสะดวกและรวดเร็วตำแหน่งที่ตั้งของประเทศสวิตเซอร์แลนด์เป็นจุดกลางของเส้นทางรถไฟสายหลักของยุโรปทั้งในแนวตะวันออก-ตะวันตกและแนวเหนือ-ใต้รวมทั้งอุโมงค์ทางรถไฟเหล่านี้มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้สวิตเซอร์แลนด์สามารถดำรงความเป็นกลางไว้ได้ตลอดมา เพราะหากประเทศถูกโจมตี ชาวสวิสก็สามารถทำลายอุโมงค์เหล่านี้ ซึ่งจะยังผลให้ทางรถไฟสายหลักของยุโรปเป็นอัมพาตไปโดยสิ้นเชิง

 ปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ยุโรปได้เกิดสงครามใหญ่ ขึ้นอีกครั้งหนึ่งคือ สงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย (Franco-Prussian War ค.ศ. ๑๘๗๐-๑๘๗๑)* ซึ่งคู่สงครามต่างเป็นประเทศมหาอำนาจที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่และอยู่ประชิดพรมแดนสวิสด้านตะวันตกและด้านเหนือ สวิตเซอร์แลนด์สามารถดำรงความเป็นกลางไว้ได้จนสิ้นสงคราม และเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War ค.ศ. ๑๙๑๔-๑๙๑๘)* ขึ้น ประเทศต่าง ๆ จำนวนมากไม่เฉพาะแต่ในยุโรปถูกดึงเข้าสู่สงคราม แต่สวิตเซอร์แลนด์ที่ตั้งอยู่ตรงกลางของทวีปยุโรปอันเป็นสมรภูมิของการยุทธส่วนใหญ่ อีกทั้งประเทศก็ประกอบด้วยชนต่างเชื้อชาติและภาษาที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกันในมหาสงครามครั้งนี้กลับสามารถยืนหยัดรักษาความเป็นกลางและผ่านวิกฤตการณ์มาได้ แม้ว่าเศรษฐกิจหลายส่วนจะเสียหายไปมากเนื่องจากผลกระทบของสงครามแต่ธุรกิจหลายอย่าง เช่น การผลิตเครื่องจักรกล อุตสาหกรรมสิ่งทอ การแปรรูปอาหาร การเกษตร รวมทั้งการผลิตนาฬิกากลับขยายตัวอย่างมาก นอกจากนี้ สวิตเซอร์แลนด์ยังเริ่มมีบทบาทสำคัญในฐานะศูนย์กลางขององค์การระหว่างประเทศเกี่ยวกับมนุษยธรรมและการบรรเทาทุกข์ รวมทั้งเป็นแหล่งพักพิงของผู้ลี้ภัยสงครามด้วย

 เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ สิ้นสุดลง สนธิสัญญาแวร์ซายได้ให้การยอมรับสถานภาพความเป็นกลางของสวิตเซอร์แลนด์ว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสันติภาพของโลก และเมื่อมีการก่อตั้งสันนิบาตชาติ (League of Nations)* ขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๒๐ โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นครเจนีวาและสวิตเซอร์แลนด์เข้าเป็นสมาชิกตั้งแต่เริ่มแรก สมัชชาสันนิบาตชาติได้ยํ้าถึงความสำคัญของความเป็นกลางตลอดกาลและบูรณภาพแห่งดินแดนสวิตเซอร์แลนด์อีกครั้งหนึ่ง อีกทั้งยังมีข้อระบุว่าสวิตเซอร์แลนด์จะไม่ถูกเรียกร้องให้เข้าร่วมในการปฏิบัติการทำงทหารใด ๆ และต้องไม่ยอมให้กองกำลังต่างชาติเข้าไปพำนักหรือหยุดพักในดินแดนของประเทศ แต่สวิตเซอร์แลนด์มีพันธะที่จะต้องเข้าร่วมในการใช้มาตรการบังคับ (sanction) ต่อประเทศที่ละเมิดกติกาสัญญาของ สันนิบาตชาติตามที่สันนิบาตชาติเรียกร้อง

 ต่อมา เมื่อสันนิบาตชาติอ่อนแอลงเรื่อย ๆ เนื่องจากประเทศมหาอำนาจหลายประเทศไม่ยอมปฏิบัติตามมติขององค์การและลาออกจากสมาชิกภาพ รัฐบาลสวิสก็ตระหนักว่าการที่จะธำรงความเป็นกลางและความเป็นเอกราชของชาติไว้ได้นั้น สวิตเซอร์แลนด์จะต้องเสริมความเข้มแข็งทั้งในด้านการทหาร เศรษฐกิจ และจิตวิทยา ฉะนั้นเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* ขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๓๙ กองทัพสวิสก็มีความสามารถที่จะเรียกระดมพลได้สูงสุดถึง ๘๕๐,๐๐๐ คน ทั้งที่มีประชากรเพียง ๔ ล้านคน ป้อมแห่งหนึ่งในเทือกเขาแอลป์ได้รับการเสริมสร้างความแข็งแกร่งและเพียบพร้อมด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ อาหาร นํ้า โรงผลิตไฟฟ้าพลังนํ้า รวมทั้งโรงงานอื่น ๆ ที่จำเป็น ซึ่งเป็นการประกันว่าหากประเทศถูกกองทัพนาซีรุกรานและบริเวณตอนกลางของประเทศถูกยึดครอง กองทัพสวิสก็จะยังสามารถยืนหยัดต่อสู้ต่อไปได้ มีการทำความเข้าใจกับประชาชนว่าหากมีประกาศทางวิทยุ ใบปลิว หรือสื่อใดก็ตามว่า รัฐบาลยอมแพ้ ขอให้ถือว่าประกาศนั้นเป็นการโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายศัตรู ด้วยเหตุนี้ สวิตเซอร์แลนด์จึงเป็นประเทศประชาธิปไตยประเทศเดียวในยุโรปภาคกลางที่รอดพันจากการถูกยึดครองและรักษาความเป็นกลางไว้ได้ อย่างไรก็ดีเมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลงใน ค.ศ. ๑๙๔๕ และมีการตั้งองค์การสหประชาชาติ (United Nations)* ขึ้น ประชาชนชาวสวิสได้ลงประชามติไม่เข้าเป็นสมาชิก แต่สวิตเซอร์แลนด์ก็เข้าเป็นสมาชิกขององค์การชำนัญพิเศษของสหประชาชาติหลายองค์การ และเป็นสมาชิกศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) ด้วย

 ตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นต้นมา เศรษฐกิจของสวิตเซอร์แลนด์เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วสถิติการว่างงานตํ่ามากและรายได้ต่อหัวของประชากรสวิสอยู่ในลำดับต้นๆ ของโลก อุตสาหกรรมที่ทำรายได้ให้แก่ประเทศเป็นอย่างมาก ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักร อุปกรณ์ชั่งตวงวัดที่มีความเที่ยงตรงสูง และอาหารแปรรูป รวมทั้งอุตสาหกรรมบริการ เช่น การขนส่ง การธนาคาร การประกันภัย การท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจของสวิตเซอร์แลนด์ต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมา ปัญหาที่เป็นลักษณะเฉพาะของประเทศนี้คือการที่แรงงานที่อพยพเข้ามาจำนวนถึง ๒ ใน ๓ เป็นชาวอิตาลีและอีกไม่น้อยที่เป็นชาวสเปน คนเหล่านี้ส่วนใหญ่นับถือคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก ทำให้ชาวสวิสจำนวนมากเกิดความวิตกว่า การเพิ่มจำนวนของแรงงานเหล่านี้จะมีผลกระทบต่อภาวะสมดุลทางศาสนาและสังคมที่ดำรงอยู่มาเป็นเวลานานของประเทศ เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจตกตํ่า ในทศวรรษ ๑๙๗๐ บรรดากิจการอุตสาหกรรมต่าง ๆ ต้องหันมาปรับโครงสร้างและวิธีการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและใช้คนทำงานน้อยลงเป็นผลให้ตำแหน่งงานต่าง ๆ ถูกยุบไปกว่า ๔๐๐,๐๐๐ ตำแหน่ง คนงานต่างด้าวต้องอพยพกลับประเทศของตน อีกทั้งรัฐบาลยังออกกฎเกณฑ์จำกัดจำนวนคนเข้าเมืองเพื่อมาทำงานอีกด้วย เมื่อถึงกลางทศวรรษ ๑๙๘๐ ความผันผวนทางการเมืองของโลกทำให้มีผู้ลี้ภัยการเมืองทะลักเข้ามาในสวิตเซอร์แลนด์และจำนวนมากมาจากประเทศโลกที่สาม เป็นผลให้ทศวรรษ ๑๙๙๐ มีคนต่างด้าวเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศมากกว่า ๑ ล้านคนปฏิกิริยาที่ตามมาก็คือการเกิดความรู้สึกชาตินิยมและความรู้สึกต่อต้านคนต่างชาติในหมู่ชาวสวิสขึ้นมาใหม่ ดังจะเห็นได้จากการลงประชามติใน ค.ศ. ๑๙๘๗ มีผู้ออกเสียงสนับสนุนแผนจำกัดจำนวนการรับผู้ลี้ภัยการเมืองเข้าประเทศอย่างท่วมท้น นอกจากนี้ สวิตเซอร์แลนด์ยังต้องเผชิญปัญหาอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วไปในสังคมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เช่น มลพิษทางนํ้าและอากาศ การที่พื้นที่ที่เคยเป็นป่าเขาถูกรุกลํ้าด้วยป่า คอนกรีต เหมืองหิน และที่ทิ้งขยะ ตลอดจนปัญหายาเสพติด การติดเหล้า และโรคเอดส์

 การบริหารการปกครองประเทศสวิตเซอร์แลนด์แบ่งออกเป็น ๓ ส่วน คือ รัฐสภา (Federal Assembly) ทำหน้าที่นิติบัญญัติ สภาบริหาร (Federal Council) ทำหน้าที่บริหาร และศาลสูงสุด (Federal Supreme Court) ทำหน้าที่ด้านตุลาการ รัฐสภาเป็นแบบ ๒ สภาที่ประกอบด้วยสภาแห่งชาติ (National Council) มีสมาชิก ๒๐๐ คน มาจากการเลือกตั้งตามสัดส่วนของประชากร และสภาแห่งรัฐต่าง ๆ (Council of States) มีสมาชิก ๔๖ คน ซึ่งเป็นผู้แทนของแต่ละรัฐ รัฐละ ๒ คน และรัฐกึ่งรัฐ (demi-canton) รัฐละ ๑ คน วิธีการเลือกตั้งผู้แทนรัฐและวาระการดำรงตำแหน่งของผู้แทนเป็นอำนาจของรัฐที่จะกำหนดกันเองสมาชิกของทั้ง ๒ สภามีสิทธิ์และอำนาจเท่าเทียมกันทุกประการ ระบบเช่นนี้เป็นการประกันว่าทุกรัฐจะมีผู้แทนของตนในรัฐสภาอย่างน้อย ๑ คน

 ทุก ๔ ปีสภาทั้งสองจะประชุมร่วมกันเพื่อเลือกคณะบุคคล ๗ คนที่จะเข้ามาทำหน้าที่ในสภาบริหารซึ่งทำหน้าที่คล้ายคณะรัฐมนตรี โดยแต่ละคนต้องรับผิดชอบบริหารงานในแต่ละกระทรวง คือ กระทรวงการต่างประเทศกระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรมและการตำรวจ กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตร และอุตสาหกรรม กระทรวงการขนส่ง คมนาคม และพลังงานรัฐมนตรีทั้ง ๗ คนต้องมาจากต่างรัฐกัน และมีธรรมเนียมว่าอย่างน้อย ๒ คนต้องมาจากรัฐที่พูดภาษาฝรั่งเศสหรือรัฐที่พูดภาษาอิตาลี นอกจากนี้ ทุกปีรัฐสภายังต้องประชุมกันเพื่อเลือกบุคคล ๒ คนจากสภาบริหารขึ้นมาทำหน้าที่ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี ซึ่งมักจะเป็นการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป

 อย่างไรก็ดี อำนาจอธิปไตยของประเทศยังคงอยู่ในมือของประชาชนโดยตรง ซึ่งจะต้องเป็นผู้ออกเสียงลงประชามติในเรื่องต่าง ๆ ปีละหลายครั้ง ทั้งในระดับรัฐและระดับประเทศ ในระดับประเทศนั้นรัฐธรรมนูญกำหนดว่า การแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญแต่ละครั้งจะต้องได้รับการเห็นชอบจากประชาชน โดยได้คะแนนเสียงข้างมากทั้งจากคะแนนเสียงทั้งหมด และได้รับเสียงข้างมากในแต่ละรัฐด้วย เป็นผลให้ประชากรในรัฐเล็ก ๆ ที่มีประชากรน้อยมีอิทธิพลอย่างมากในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ ประชาชนทุกคนยังมีสิทธิเสนอให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญได้ หากสามารถหาลายมือชื่อผู้สนับสนุนได้จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ ๑๐๐,๐๐๐ คน รัฐบาลจะต้องนำข้อแก้ไขนั้นมาเสนอให้ประชาชนออกเสียงลงประชามติทันที (การแก้ไขรัฐธรรมนูญในลักษณะนี้ครั้งสำคัญเกิดขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๗๑ เมื่อมีการเสนอให้สิทธิการออกเสียงเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาของสมาพันธรัฐแก่สตรีจนประสบความสำเร็จ) ส่วนร่างกฎหมายต่าง ๆ รวมทั้งสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ผ่านรัฐสภาแล้ว หากมีประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งอย่างน้อย ๕๐,๐๐๐ คนหรือรัฐบาลของรัฐต่าง ๆ อย่างน้อย ๘ รัฐ เสนอให้มีการลงประชามติรับหรือไม่รับ รัฐบาลก็ต้องปฏิบัติตาม จึงอาจกล่าวได้ว่าสวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศเดียวในโลกที่ใช้ระบบประชาธิปไตยโดยตรง

 ในด้านการต่างประเทศ สวิตเซอร์แลนด์ได้เข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติใน ค.ศ. ๒๐๐๒ แต่มิได้เป็นสมาชิกสหภาพยุโรปหรืออียู (European Union-EU)* อย่างไรก็ดี รัฐบาลสวิสก็ได้พยายามปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสหภาพยุโรป เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจกับนานาประเทศ รวมทั้งได้ทำสนธิสัญญาทวิภาคีเกี่ยวกับการเปิดเสรีทางการค้ากับประเทศในสหภาพยุโรปหลายฉบับ และใน ค.ศ. ๒๐๐๕ ก็ได้เข้าร่วม ในความตกลงเชงเงิน (Schengen Agreement)* ซึ่งเป็นความตกลงระหว่างชาติในทวีปยุโรปที่จะยกเลิกการจำกัดควบคุมการผ่านแดนทั้งคนและสินค้าระหว่างประเทศสมาชิกอันนับเป็นก้าวสำคัญของประเทศที่ดำรงความเป็นเอกเทศมาเป็นเวลานานเช่นสวิตเซอร์แลนด์ที่จะเข้าไปมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟันกับประเทศอื่นๆ ในทวีปยุโรปและประชาคมโลก.



คำตั้ง
Switzerland; Swiss Confederation
คำเทียบ
สวิตเซอร์แลนด์ หรือสมาพันธรัฐสวิส
คำสำคัญ
- การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙
- การประชุมใหญ่แห่งเวียนนา
- การรบที่มารีญาโน
- ความตกลงเชงเงิน
- ซวิงลี, อุลริช
- ธรรมนูญ ค.ศ. ๑๘๑๕
- โบนาปาร์ต, นโปเลียน
- มหาสงคราม
- ระบอบการปกครองแบบฟิวดัล
- รัฐบัญญัติการประนีประนอม
- ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
- สงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สนธิสัญญาบาเซิล
- สนธิสัญญาเวสต์ฟาเลีย
- สนธิสัญญาแวร์ซาย
- สนธิสัญญาแวร์เดิง
- สภาแห่งรัฐ
- สวิตเซอร์แลนด์
- สหประชาชาติ
- สหภาพยุโรป
- สัญญาสงบศึก
- สันนิบาตชาติ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
เพ็ญแข คุณาเจริญ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-